สุขภาพ

ทำไมป้องกันเห็บหมัดอยู่ตลอดแล้ว ถึงยังมีเห็บอยู่อีก?

เนื่องจากวงจรชีวิตของเห็บหมัดนั้นมีทั้งที่อยู่บนตัวสัตว์และอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่นเห็บจะมีการฟักไข่บนพื้นดินแต่จะขึ้นมาบนตัวสัตว์เพื่อดูดเลือดเป็นอาหาร เพราะฉะนั้นการกำจัดเห็บหมัดต้องทำทั้งบนตัวสัตว์และในสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น ตามบริเวณที่อยู่อาศัยหรือที่นอน เพื่อตัดวงจรชีวิตของเห็บทั้งหมด

หากเลี้ยงตัวเดียวจำเป็นต้องทำหมันหรือไม่?

หากไม่ได้ทำหมัน เมื่อมีอายุมากขึ้น อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม และมดลูกอักเสบในตัวเมีย โรคต่อมลูกหมากโตในสุนัขตัวผู้ ซึ่งการทำหมันนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆเหล่านี้แล้ว ยังช่วยในการลดปัญหาพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ต่างๆอีกด้วย

ทำหมันแล้วทำให้อ้วนหรือไม่?

เนื่องจากการทำหมันจะลดฮอร์โมนเพศและพฤติกรรมต่างๆลง อาจทำให้การเผาผลาญพลังงานลดลงตามไปด้วย สุนัขหรือแมวที่ทำหมันแล้วจึงมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ง่าย ควรมีการเปลี่ยนอาหารให้ทานเป็นสูตรสำหรับสุนัขหรือแมวที่ทำหมันแล้วโดยเฉพาะเพื่อลดความเสี่ยงในการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว

ทำความสะอาดช่องหูสัตว์เลี้ยงบ่อยแค่ไหน?

ควรหมั่นทำความสะอาดช่องหูของน้อง ๆ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะในสุนัขหรือแมวที่มีลักษณะของหูที่พับหรือมีขนในช่องหูเยอะ เนื่องจากช่องหูจะอับชื้นและสกปรกได้ง่ายกว่า ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบขึ้นมาได้

ป้องกันการเกิดปัญหาก้อนขนในน้องแมวได้อย่างไร?

1. หวีขนบ่อย ๆ ช่วยกำจัดขนส่วนเกินออกไป 

2.ให้อาหารที่มีไฟเบอร์ ช่วยในการลดการรวมตัวของก้อนขนและกระตุ้นการขับถ่าย 

3.ใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ช่วยลดปัญหาก้อนขน เช่น เจลอาหารเสริม เป็นต้น

น้องหมามีกลิ่นปาก ทำอย่างไรดี?

น้องหมาส่วนใหญ่พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับโรคเหงือกและโรคฟันเมื่ออายุครบ 3 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนใหญ่เกิดมาจากการไม่ได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเหมาะสม ทำให้มีการสะสมของแบคทีเรียและคราบหินปูนซึ่งเป็นสาเหตุหลักๆของกลิ่นปากในสุนัข 

วิธีแก้ไขเบื้องต้น

หมั่นแปรงฟันให้น้องๆ โดยความถี่ในการแปรงควรแปรงอย่างน้อยที่สุดอาทิตย์ละ 3 ครั้ง (วันเว้นวัน) หรือถ้าสามารถแปรงได้ทุกวันก็จะดีหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดูแลช่องปากโดยเฉพาะ เพื่อให้น้องๆ มีสุขภาพฟันและเหงือกที่แข็งแรง ปัญหาเรื่องกลิ่นปากก็จะลดลง

อะไรคือภาหะนำโรคพยาธิหนอนหัวใจ?

ภาหะนำโรคที่สำคัญก็คือเจ้ายุงร้ายที่จะนำเอาตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจเข้าสู่ร่างกายน้องหมาผ่านทางการกัด หลังจากนั้นเจ้าพยาธิตัวน้อยที่อยู่ในกระแสเลือดจะค่อยๆโตขึ้นและทำให้เกิดอันตรายต่อหัวใจ หลอดเลือด และปอดได้

การป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ?

เราสามารถป้องกันได้โดย วิธีการ ใช้ยาหยดหลัง ยากิน หรือยาฉีด ทั้งนี้ควรได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ด้วยนะคะ

ถ้าเราปล่อยให้เล็บน้องหมาน้องแมวทิ้งไว้จนยาว จะเกิดปัญหาอะไร?

การตัดเล็บน้องหมาน้องแมวที่เราเลี้ยงไว้ภายในบ้าน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอยู่เสมอ เนื่องจากน้องหมาไม่ได้มีการฝนเล็บตามธรรมชาติ เล็บของน้องหมาจะยาวขึ้นเรื่อย ๆจนอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ ยกตัวอย่างเช่น เล็บหักหรือเล็บแตกเมื่อได้รับการกระทบกระเทือน เล็บหลุดเนื่องจากไปเกี่ยวสิ่งต่าง ๆ หรือการที่เล็บยาวงุ้มทิ่มเข้าไปในเนื้อฝ่าเท้า ซึ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมากและอาจทำให้เกิดแผลติดเชื้อรุนแรง

ภาวะโรคลมแดดในช่วงหน้าร้อน เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?

สาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดภาวะโรคลมแดดในช่วงหน้าร้อน

1. สุนัขอยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงจนเกินไป และเป็นที่ชื้นหรือบริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น บนรถหรือในห้องปิดทึบ เป็นต้น

2. มีการออกกำลังกายกลางแจ้งหรือที่มีอุณหภูมิสูงทำให้ระบายความร้อนไม่ทัน

3. ปัจจัยเสี่ยงจากโรคอื่น ๆเช่น โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ทำให้ระบายความร้อนได้ไม่ดี หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบหัวใจ กล้ามเนื้อ เป็นต้น

4. ลักษณะของน้องสุนัขเช่น สุนัขอ้วนหรือสุนัขที่มีขนยาวและพันธุ์หน้าสั้นจะมีความเสี่ยงที่มากกว่า

วัคซีน

ควรพาน้องหมาน้องแมวมาเริ่มฉีดวัคซีนตอนไหน?

การฉีดวัคซีนเข็มแรกโดยปกติแล้วจะเริ่มต้นที่อายุ 2 เดือน แต่สามารถนำน้องหมาน้องแมวมาพบคุณหมอก่อนได้เพื่อทำการถ่ายพยาธิป้องกันเห็บหมัดและวางแผนโปรแกรมวัคซีน

วัคซีนที่ควรฉีดหลักๆมีอะไรบ้าง?

วัคซีนหลักๆสำหรับน้องหมาจะประกอบไปด้วยวัคซีนรวม 5 โรคและวัคซีนพิษสุนัขบ้า ส่วนน้องแมวจะประกอบไปด้วยวัคซีน ไข้หัดหวัดแมววัคซีนพิษสุนัขบ้าและวัคซีนลิวคีเมียซึ่งนอกเหนือไปจากนี้จะมีวัคซีนทางเลือกอื่นๆให้เจ้าของสามารถเลือกทำตามความเสี่ยงของน้องๆแต่ละตัวได้

นอกจากการทำวัคซีนแล้วเราควรมีการป้องกันอะไรอีกบ้าง?

นอกจากการทำวัคซีนเราควรพาน้องหมาน้องแมวมาถ่ายพยาธิ ป้องกันเห็บหมัดและพยาธิหนอนหัวใจ เนื่องจากปรสิตต่างๆเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของการป่วยในน้องหมาและน้องแมวได้ นอกจากนี้ปรสิตบางชนิดอาจติดมาสู่คนได้

พึ่งได้รับน้องหมาน้องแมวมาควรพาไปฉีดวัคซีนทันทีเลยหรือไม่?

สามารถพามาเพื่อตรวจสุขภาพเบื้องต้นกับคุณหมอได้ทันที แต่การฉีดวัคซีนอาจต้องเว้นระยะไปก่อน 1-2 อาทิตย์ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงปรับตัวและดูอาการ หากพบว่าไม่ได้มีอาการป่วยแฝงและสุขภาพแข็งแรงร่าเริงดีค่อยเริ่มต้นฉีดวัคซีน

ฉีดวัคซีนแล้วทำไมถึงสามารถเป็นโรคได้อีก?

การฉีดวัคซีนไม่สามารถช่วยป้องกันโรคได้ 100% แต่จะทำให้เมื่อเวลาที่ติดโรค น้องหมาและแมวจะแสดงอาการของโรครุนแรงน้อยกว่าในกรณีที่ไม่ได้ทำวัคซีน

ถ้าผู้สัมผัสโรคมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าวันที่ 0 แล้วมาอีกทีวันที่ 10 สุนัขที่กัดมีอาการปกติ ควรทำอย่างไร?

แสดงว่าสุนัขไม่ได้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะหยุดฉีดวัคซีนก็ได้ แต่พึงระลึกว่า เมื่อเริ่มฉีดวัคซีนให้คนไข้แล้ว ควรฉีดให้ครบ 3 เข็มตามกำหนดนัด เพราะเท่ากับว่าคนไข้จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า

การฉีดวัคซีนในลูกสุนัขช่วยอะไรได้บ้าง?

การฉีดวัคซีนช่วยป้องกันโรคติดต่อ และในบางกรณีป้องกันโรคที่มีอันตรายถึงชีวิตได้ วัคซีนบางตัวจำเป็นต้องฉีด แต่บางตัวเป็นวัคซีนที่แนะนำให้ฉีด

ควรทำอย่างไรหลังจากลูกสุนัขฉีดวัคซีนแล้ว?

สิ่งสำคัญคือ คุณจะต้องให้ลูกสุนัขพักผ่อนให้เพียงพอหลังจากการฉีดวัคซีน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของลูกสุนัขจะทำงานหนักมากกว่าปกติหากคุณรู้สึกว่าลูกสุนัขยังไม่กลับสู่สภาวะปกติภายใน 24 ชั่วโมง โปรดติดต่อสัตวแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ

ลูกสุนัขจะมีปฏิกิริยาอย่างไรหลังจากฉีดวัคซีน?

ลูกสุนัขอาจดูหงอยลงเล็กน้อยหลังจากการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในวันแรกที่ฉีด อาการแบบนี้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของลูกสุนัขตอบสนองต่อวัคซีน

วัคซีนจะทำให้ลูกสุนัขติดเชื้อไวรัสได้หรือไม่?

ไวรัสหรือแบคทีเรียส่วนใหญ่ที่ใช้ในการฉีดวัคซีนมักจะตายหรือหมดฤทธิ์แล้ว ซึ่งหมายความว่าตามปกติแล้ว มันจะไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้

อาหาร

ทำอย่างไรดีน้องหมาน้องแมวเลือกกิน ไม่ยอมทานอาหารเม็ด?

เนื่องจากในอาหารเม็ดแม้ว่าจะมีสารอาหารที่ครบถ้วนมากกว่า แต่ความน่ากินนั้นอาจน้อยกว่าอาหารคนที่มีทั้งกลิ่นและรสชาติที่ดี ทำให้น้องๆเลือกที่จะกินอาหารคนมากกว่า ปัญหานี้เกิดจากการที่เจ้าของเปลี่ยนอาหารให้น้องบ่อยจนเกินไป พวกเค้าสามารถเรียนรู้ได้ว่าหากไม่ยอมกิน เจ้าของจะต้องเอาอย่างอื่นมาให้ ทำให้ติดนิสัยเลือกกิน เจ้าของอาจต้องใจแข็งอย่าตามใจจนมากเกินไป เพื่อให้น้องๆได้กินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและมีสุขภาพที่ดี

เลือกอาหารให้น้องหมาน้องแมวอย่างไรดี?

สำคัญเลยคือควรให้เป็นอาหารเม็ดสำหรับสัตว์โดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากจะมีการคำนวณปริมาณสารอาหารให้เหมาะสมแล้วยังมีส่วนช่วยในการขัดฟันสุนัขให้สะอาด นอกจากนี้ควรเลือกชนิดอาหารให้เหมาะสมกับช่วงวัยและพันธุ์ของสัตว์ เพื่อได้รับสารอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัยนั้นๆและควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม

ทำไมเม็ดอาหารของแต่แบรนด์ มีรูปร่างหลากหลาย และขนาดต่างกัน?

รูปทรงและขนาดของเม็ดอาหาร ออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างขากรรไกร แรงกดของกราม รวมทั้งวิธีการกินอาหารของสุนัขและแมวแต่ละขนาดและสายพันธุ์

เรื่องการให้อาหารน้องหมา - แมว  แต่ละมื้อ?

ถ้าเป็นในลูกสุนัขอายุน้อย (ไม่เกิน3-4เดือน ) แนะนำว่าควรให้อาหารวันละ 3-4 มื้อ เหตุผลก็คือ ในลูกสุนัขโดยเฉพาะน้องหมาพันธุ์เล็กๆ อย่าง ปอมเมอราเนียน ชิวาวานั้น จะมีอัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายสูงกว่าน้องหมาที่อายุมาก สารอาหารที่ให้พลังงานแก่เซลล์ในร่างกายที่เอาไปใช้ง่ายที่สุดนั้นก็คือ น้ำตาลกลูโคส ซึ่งก็มาจากการย่อยสลายอาหารที่กินเข้าไป ถ้าน้องหมาได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือทิ้งช่วงระยะเวลาในการให้อาหารนานเกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะกลูโคสในเลือดต่ำ ทำให้น้องหมาชักและอาจช็อคจนเสียชีวิตได้

ส่วนในน้องหมาที่อายุมากกว่านั้น อาจลดจำนวนมื้ออาหารลงเหลือวันละ 1-2 มื้อก็เพียงพอแล้ว บางคนก็อาจถามอีกว่าแล้วให้ 1 มื้อหรือว่า 2 มื้อดีกว่าล่ะ ซึ่งตรงนี้ขอตอบว่าแล้วแต่ความสะดวกของเจ้าของน้องหมาเป็นหลัก สำคัญที่ว่าปริมาณอาหารรวมทั้งวันต้องได้รับอย่างเพียงพอไม่มากไป ไม่น้อยไปค่ะ เพราะเคยมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าจำนวณมื้ออาหารต่อวันเมื่อเทียบกับปริมาณอาหารต่อวัน อย่างหลังมีผลต่อน้ำหนักตัวสุนัขมากกว่าค่ะ

หากไม่สามารถหาซื้ออาหารสูตรเดิมได้ สามารถเปลี่ยนสูตรได้หรือไม่?

ได้แน่นอน แต่ขอแนะนำให้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการให้อาหารระหว่างอาหารเดิมและอาหารใหม่ โดยผสมอาหารเดิมและใหม่รวมกันก่อนสัก 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการเปลี่ยนอาหารอย่างฉับพลัน เช่น ถ่ายเหลวได้

ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ มีปริมาณแคลลอรีเท่าใด?

ปริมาณแคลลอรีในผลิตภัณฑ์อาหารเราแตกต่างกันไปในแต่ละผลิตภัณฑ์ เนื่องจากอาหารแต่ละชนิดได้ถูกออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับช่วงอายุและไลฟ์สไตล์ของสัตว์เลี้ยง

หากเจ้าตัวน้อยเริ่มเบื่อหน่ายรสชาติเดิมๆ?

ควรผลัดเปลี่ยนให้ลองชิมรสชาติใหม่ๆ บ้าง เพื่อให้เจ้าตัวน้อยกินง่ายขึ้น

เจ้าตัวน้อยที่ไม่ยอมหม่ำอาหารเกินกว่า 24 ชั่วโมง?

เจ้าของอาจต้องปรึกษาสัตวแพทย์เพราะนั่นเป็นสัญญาณบอกว่าเจ้าตัวน้อยกำลังป่วย

เจ้าตัวน้อยที่เริ่มอ้วน เจ้าของควรลดอาหาร?

โดยให้อาหารแคลอรี่ต่ำประมาณ 60% ของแคลอรี่ที่ต้องการในแต่ละวันตามน้ำหนักตัวมาตรฐาน

การตามใจให้เจ้าตัวน้อยเลือกกินมากเกินไป จะทำให้เจ้าตัวน้อยเสียนิสัย?

ในการฝึกเมื่อถึงเวลาอาหารแล้วเจ้าตัวน้อยไม่สนใจหม่ำ เจ้านายควรยกอาหารออกไปเลยโดยไม่ต้องสนใจว่าเจ้าตัวน้อยจะกินหรือไม่ เพราะในที่สุดเขาจะเรียนรู้และกินตามที่จัดให้อย่างไม่มีเงื่อนไข